นายกรัฐมนตรี พูดรายการ เน้นการศึกษา พัฒนา กศน.ตำบล
“การพัฒนา กศน. ตำบลให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรี และเด็ก ภายใต้การเชื่อมโยงศูนย์เรียนรู้ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตในชุมชน”
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อวันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม 2559 ศาสตร์พระราชาแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนด้วยการศึกษา เป็นอย่างมาก โดยทรงพัฒนาด้านการศึกษา ทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียนมาโดยตลอด เพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง แม้แต่ผู้ที่ด้อยโอกาส และสถานที่ ที่ห่างไกล ทั้งที่เป็นชาวไทยภูเขาหรือประชาชนที่อยู่ในท้องถิ่นชายแดนห่างไกลจากการคมนาคม โดยการพระราชทานพระราชทรัพย์ ร่วมสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อสอนหนังสือให้แก่พี่น้องประชาชนเหล่านั้น โดยพระราชทานนามว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์” ทรงสร้าง “โรงเรียนร่มเกล้า” ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร และในพื้นที่ปฏิบัติการของผู้มีอุดมการณ์ทางการเมือง ทรงตั้ง “โรงเรียนราชประชาสมาสัย” สำหรับบุตรธิดาของผู้ป่วยเป็นโรคเรื้อน ได้มีโอกาสได้เรียน ไม่ถูกรังเกียจ และอีกหลาย ๆ โรงเรียน ที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย และยกระดับคุณภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย
ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลปัจจุบัน ได้ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท โดยทรงน้อมนำ “ศาสตร์พระราชา” แห่งองค์สมเด็จพระบรมชนกนาถ ทรงทราบดีว่าเยาวชนในถิ่นทุรกันดารยังด้อยโอกาสในการศึกษา โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโรงเรียนมัธยมศึกษา ในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการก่อตั้งขึ้น ไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้แก่ “โรงเรียนมัธยมพัชรกิติยาภา” ในจังหวัดนครพนมกำแพงเพชร และสุราษฎร์ธานีและ “โรงเรียนมัธยมสิริวัณวรี” ในจังหวัดอุดรธานี สงขลา ฉะเชิงเทรา และเสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางศิลาฤกษ์ด้วยพระองค์เอง อีกทั้งยัง พระราชทานวัสดุอุปกรณ์การศึกษาอันทันสมัย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ วีดิทัศน์ พระราชทานคำแนะนำ และทรงส่งเสริมให้โรงเรียนดังกล่าวนั้น ดำเนินโครงการอันเป็นประโยชน์แก่นักเรียน เช่น โครงการอาชีพอิสระ เพื่อให้เยาวชนใช้ความรู้ประกอบอาชีพเลี้ยงตนและครอบครัวได้เมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมโรงเรียนและทรงติดตามผลการศึกษา รวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้พระราชธิดาทั้งสองพระองค์ ได้ทรงร่วมกิจกรรมของโรงเรียนต่าง ๆ อยู่เสมอ
ในส่วนของรัฐบาลนี้ นอกจากจะน้อมนำศาสตร์พระราชาอันนับว่าเป็นแนวทางพระราชทานมาสู่การปฏิบัติแล้ว ยังให้ความสำคัญกับการปฏิรูปการศึกษา ไปสู่ยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความคิดวิเคราะห์ ความคิดริเริ่ม มีจินตนาการ มีการสนใจข้อมูลข่าวสารรอบตัว ที่ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจ และการดำเนินชีวิต การประกอบอาชีพ และการประกอบกิจการใด ๆ ก็ตาม ความสนใจใฝ่รู้ และศึกษาแนวโน้ม การคาดการณ์อนาคต บนพื้นฐานของฐานข้อมูลและสถิติ และการศึกษาเพื่อการประกอบอาชีพให้ทุกคนมีงานทำ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งมีการดำเนินการที่สำคัญ ได้แก่ นโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เพื่อให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้ทางวิชาการ ความรู้ทางปฏิบัติการ และความรู้ คิด อ่าน ตามเหตุผลความเป็นจริงด้วยการบริหารจัดการเวลาเรียนของสถานศึกษาใหม่ สามารถลดเวลานั่งเรียนในห้อง แล้วเพิ่มเวลาการปฏิบัตินอกห้องเรียน ได้ราว 1,000 – 1,200 ชั่วโมงต่อปี ให้เพิ่มสาระในการเรียนรู้ดังกล่าว ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้มากที่สุด และสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง สำหรับการบริหารจัดการเวลาเรียนภาษาอังกฤษนั้นเราสามารถขยายเวลาเรียนภาษาอังกฤษ ในชั้นประถมศึกษา จากเดิม 40 ชั่วโมงต่อปี เป็น 200 ชั่วโมงต่อปี / รวมทั้ง การจัดทำแอพพลิเคชั่นภาษาอังกฤษ “Echo English” เพื่อสร้างมาตรฐานความสามารถด้านภาษาอังกฤษของผู้เรียนโดยอิงมาตรฐานสากล (CEFR) มาปรับให้เข้ากับบริบทของไทย
นอกจากนี้ การส่งเสริมการศึกษาเรียนรู้ผ่านเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อการศึกษา (UniNet) สำหรับสถานศึกษาใช้บริการ มากกว่า 10,000 แห่งทั่วประเทศ และโครงการส่งเสริมการศึกษานอกระบบ ผ่านทีวีสาธารณะโดยการติวเข้มเติมความรู้ โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์ เพื่อการศึกษา ETV ของกระทรวงศึกษาธิการ และ NBT ของกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น มีกลุ่มเป้าหมาย และผู้ใช้บริการ ปัจจุบันมากกว่า 2.4 ล้าน และการพัฒนา กศน. ตำบลให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการจัดการศึกษาเพื่อสร้างโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตในชุมชน และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ ผู้สูงอายุ สตรี และเด็ก ภายใต้การเชื่อมโยงศูนย์เรียนรู้ทั้ง 4 ประเภท ได้แก่ ศูนย์เรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาประชาธิปไตยประจำตำบล ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และศูนย์การศึกษาตลอดชีวิตในชุมชน ในการน้อมนำศาสตร์พระราชาด้านการศึกษามาประยุกต์ใช้ โดยเน้นการแทรกซึมไปสู่หน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมก็คือ ครอบครัวและหมู่บ้านและ หน่วยงาน บุคลากรทางการศึกษา และรัฐบาล จะต้องสร้างความมั่นใจว่า ในอนาคตประเทศไทยจะมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศสืบไป
//ข้อมูลรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน 9 ธันวาคม 2559