ลุงเฉลิม พีรี ปราชญ์ชาวบ้าน ศิษย์กศน.กำแพงเพชร รับรางวัล”คนดีแทนคุณแผ่นดิน”ปี 59

3

บุกเบิกกับ กศน.สร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ มีฐานการเรียนรู้ที่น่าสนใจโดดเด่นมากกับการขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น ที่เปรียบเหมือนงานวิจัยที่น่าทึ่งคือใช้ยอด ตามแบบนักวิจัยชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้าน

          เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบึงสามัคคี นำโดยนางสาวรัศมี ศรีภิบาล ผู้อำนวยการฯ และบุคลากรร่วมเดินทางนำนายเฉลิม พีรี ปราชญ์ชาวบ้านอำเภอบึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ไปรับรางวัล “คนดีแทนคุณแผ่นดิน ปี 59” ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร โดยได้รับเกียรติจากศาตราจารย์เกียรติคุณนพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรีประธานคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ โครงการแทนคุณแผ่นดินปี 2559 เป็น ผู้มอบรางวัล

1

          นายเฉลิม  พีรี เป็นบุคคลที่เรียนรู้ด้านเกษตรอยู่ตลอดเวลาและปรับปรุงสวนสมโอให้เป็นฐานการเรียนรู้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นแบบอย่างในชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคลากร กศน.ในพื้นที่ มาตั้งแต่แรกเริ่มซึ่งขณะนั้นคือ นายอนันต์ แก้วทอง เป็นผู้อำนวยการ กศน.อำเภอบึงสามัคคี ถือว่าร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาตลอดเวลา ทั้งนี้สิ่งที่เป็นฐานการเรียนรู้ที่น่าสนใจโดดเด่นมากคือ การขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น ที่เปรียบเหมือนงานวิจัยที่น่าทึ่งคือใช้ยอดของต้นไม้เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งแก่แบบที่ใช้ปักชำกันทั่วไป ตามแบบนักวิจัยชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้าน ปัจจุบันลุงเฉลิม อยู่บ้านเลขที่ 75 หมู่ที่ 3 บ้านใหม่ ตำบลบึงสามัคคี อำเภอ   บึงสามัคคี จังหวัดกำแพงเพชร ปัจจุบันมีอายุ 63 ปี ปราชญ์ชาวบ้านได้รับพระราชทานปริญญาเศรษฐศาสตร์ มหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ประจำปี 2557 มหาวิทยาลัยราชภัฎกำแพงเพชร เป็นประกันความมุ่งมั่นและความตั้งใจ รวมทั้งรางวัลที่ได้รับต่อเนื่องมาตลอดจากหลายหน่วยงาน แม้นกระนั้นก็ยังใฝ่เรียน โดยเรียนกับ กศน.อำเภอบึงสามัคคี ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งก็ใกล้จะจบการศึกษาแล้วเช่นกัน

6 12

          จุดเริ่มต้นลุงเฉลิม เดิมประกอบอาชีพทำไร่อ้อย และ ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน เพื่อส่งโรงงานแต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนระบบการผลิต โดยแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรของตนเอง มาปลูกส้มโอ  หากจะพูดง่ายๆก็คือ ได้ทำกิจกรรมพืชเชิงเดี่ยวพบว่า มีภาระหนี้สินอยู่ตลอดเวลา เพราะต้อง จัดซื้อปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ยเคมี และ ยาเคมีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของตนเอง อีกทั้งไม่สามารถที่จะควบคุมการใช้จ่ายของครอบครัวได้ ต่อมาปี พ.ศ. 2550 มีหน่วยงานทางภาครัฐ ได้จัดทัศนศึกษาดูงาน โครงการตามแนวพระราชดำริ ที่ห้วยฮ่องไคร้ จังหวัดเชียงใหม่  ได้ทราบถึงแนวทางการปรับปรุงบำรุงดินในสภาพป่าที่เสื่อมโทรม พร้อมมีการอนุรักษ์ดินและน้ำ จึงเกิดจุดเปลี่ยนที่เกิดแรงจูงใจให้อยากปรับปรุงกิจกรรมของตนเอง ให้มาอนุรักษ์ดินและน้ำ ในขณะเดียวกัน ก็ได้น้อมนำเอา หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน มาปรับวิธีคิด พร้อมกับนำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงพื้นที่ของตนเองทันที ในขณะที่เริ่มดำเนินการปรับเปลี่ยน ก็ค้นพบว่า การที่เราจะปรับเปลี่ยนอะไรนั้น ต้องปรับที่วิธีคิดของตนเองก่อนจากนั้นๆ  ก็ค่อย พูดคุยสื่อสาร ทำความเข้าใจกับคนสมาชิกครอบครัวที่อยู่รอบข้างตัวเราให้เข้าใจกับแนวคิดของเราเสียก่อน จากนั้นก็ต้องลงมือทำทันที เริ่มต้นลงมือทำสิ่งที่ง่ายๆไปก่อน แล้วค่อยๆขยายทำสิ่งที่ยากขึ้นเป็นลำดับ โดยมี กศน. เป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนช่วยเหลือมาตลอด ปัจจุบันนี้ครอบครัวคุณลุงเฉลิม ปรับปรุงสวนส้มโอที่มีอยู่ ให้เป็นส้มโอปลอดภัย แบบอินทรีย์ ปรับเปลี่ยนจากการใช้ปุ๋ยเคมี ยาเคมี มาเป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์จากก้อนเบญจคุณ ของมูลนิธิอาจารย์จำเนียร สาระนาค ที่ลุงทำเองซึ่งต่อยอดจากการเข้าอบรมกับ กศน. รวมทั้งเลี้ยงไก่ เป็ด  เลี้ยงหมูหลุม จากนั้นก็มีการผลิตน้ำส้มควันไม้และการผลิตน้ำหมักจากพืชสมุนไพรที่หาได้ในท้องถิ่น มาใช้ทดแทนการใช้สารเคมี  นอกจากนั้นยังได้ปรับสวนส้ม เป็นการปลูกไม้ยืนต้นแบบผสมผสาน ร่มเย็น ให้เป็นธรรมชาติ

5

          ลุงเฉลิม เป็นบุคคลที่มีความรู้ ด้านการเกษตรอย่างแท้จริง พร้อมเป็นคนที่ปฏิบัติจริงเป็นคนที่เรียนรู้         อยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังได้ปรับปรุงพื้นที่รอบๆที่อยู่อาศัย และปรับปรุงสวนส้มโอให้เป็นฐานการเรียนรู้หลายฐาน ปัจจุบันได้เปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง ที่เป็นแบบอย่างในชุมชน และมีผู้สนใจมาขอศึกษา และ มาศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องในปีหนึ่งไม่น้อยกว่าพันคน นอกจากนั้นยังมีหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้มาประสานงานแห่งความร่วมมือ เพื่อพัฒนากิจกรรมของลุงเฉลิม เป็นศูนย์การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริ             อีกด้วย  ซึ่งลุงเฉลิม ได้ไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับหน่วยงานภาคี พร้อมได้รับเป็นวิทยากรอย่างต่อเนื่องทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด รวมทั้งยังเผยแพร่ใน facebook ชื่อ “สวนลุงเฉลิมเกษตรพอเพียง”เป็นต้น พร้อมยังได้นำความรู้กลับมาพัฒนาตนเอง จนเป็นที่สนใจของคนที่อยู่ในชุมชนและนอกชุมชน ได้มาศึกษาดูงานและขอรับความรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ได้รับรางวัลศูนย์การเรียนรู้โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ระดับอำเภอดีเด่น ระดับจังหวัด ประจำปี 2556 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

2

          สิ่งที่เป็นฐานการเรียนรู้ที่โดดเด่น คือ การขยายพันธุ์พืชแบบควบแน่น ที่เปรียบเหมือนงานวิจัย ที่น่าทึ่งคือใช้ยอดของต้นไม้  เพราะไม่จำเป็นต้องเป็นกิ่งแก่ แบบที่ใช้ปักชำกันทั่วไป ตัดด้วยกรรไกรหรือ มีดคมๆ  ให้รอยตัดเป็นแนวเฉียงนำมาปักชำในดินที่เตรียมไว้ คือดินที่ขุดลึกลงไปจากหน้าดิน ไม่ใช้หน้าดินหรือดินผสมปุ๋ยใดๆนำดินที่ได้มาพรมน้ำให้พอชุ่ม นำดินมาใส่ภาชนะที่เราจะใช้ชำยอดไม้ ให้สามารถมองเห็นได้ว่ารากจากยอดต้นไม้  อากาศที่ปิดและไอน้ำจะทำให้กิ่งชำมีน้ำตลอด และไอน้ำจะเร่งตาให้ออกใบใหม่ขึ้นมา เร่งให้ใบเปิด  เพื่อรับแสง จะส่งผลให้เกิดการสังเคราะห์เป็นอาหาร เร่งให้กิ่งเกิดราก ทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จะเกิดรากงอกออกมาให้เห็น ตามแบบนักวิจัยชาวบ้านหรือปราชญ์ชาวบ้าน พืชที่ใช้วิธีนี้มีหลายอย่างด้วยกันที่ลุงเฉลิมได้ทดลองทำแล้ว ได้แก่ มะนาว มะกรูด ชมพู่ สะเดา มะเดื่อ หม่อนบราชิล ทับทิม แคนา แคป่า มะกอก มะไฟ  ตะขบป่า แมงลักผักแพ้ว ผักขม เป็นต้น สามารถขยายพันธุ์ได้ครั้งละมากๆตามที่ต้องการ พืชไม่กลายพันธุ์ และมีความแข็งแรงกว่าการตอนกิ่งหรือปักชำแบบธรรมดา

7

          คือสิ่งที่ลุงเฉลิม ที่เริ่มต้นจากพื้นที่ที่มีอยู่เล็กผืนหนึ่งกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าทำได้จริงและมีความยั่งยืนในการใช้ชีวิต และในขณะเดียวกัน         ก็ได้รับเชิญเป็นวิทยากร หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้ลองผิดลองถูกมาเผยแพร่โดยไม่คิดมูลค่า ทั้งเด็ก เยาวชน ประชาชนทั่วไป อย่างต่อเนื่องยาวนาน จนเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้พบเห็น ภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน ให้การยอมรับ เป็นแบบอย่างที่ดีกับสังคม แม้วันนี้ลุงเฉลิม จะเป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้างมาขึ้น ได้รับรางวัลมากมาย แต่สิ่งที่คุณลุงภาคภูมิใจมากที่สุดคือการเดินมาแนวพระราชดำริ พร้อมทั้งนำแนวทางพระราชดำริเผยแพร่ให้เยาวชน ประชาชน เพื่อการพัฒนา อย่างยั่งยืนถือเป็นการแทนคุณแผ่นดินเกิดได้อย่างภาคภูมิ และลุงเฉลิมทิ้งท้ายว่ารางวัลนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของตนเองและครอบครัว ที่จะยึดมั่นถือมั่นทำความดีเดินตามแนวทางพระราชดำริ ต่อไป พร้อมอุทิศตนเองถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์ ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชน          ที่สนใจอย่างเต็มกำลังของตนเองจนกว่าชีวิตจะหาไม่

//กำจร  หัดไทย รายงาน