“สุชล สุขเกษม” มีผลงานดีเด่น กศน. จากมูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา แสงมลิ ปี 2560

 img_8115

       นายกฤตชัย  อรุณรัตน์ เลขาธิการ กศน. และ ดร.ทองอยู่ แก้วไทรฮะ อดีตรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการร่วมแสดงความยินดีกับนายสุชล สุขเกษม ผู้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่น ด้านการศึกษานอกระบบ มูลนิธิสมาน-คุณหญิงเบญจา  แสงมลิ ประจำปี 2560 เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมาโดยรับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

243017

        นายสุชล สุขเกษม เกษตรกรวัย 55 ปี ผู้มุ่งมั่นในการถ่ายทอดองค์ความรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสู่ชุมชนมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี พ่วงด้วยตำแหน่งประธานกองทุนหมู่บ้าน หมู่ 7 บ้านสารภี ตำบลจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 56 หมู่ 7 บ้านสารภี อำเภอจอมปลวก อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม เคยทำงานประเทศซาอุดิอารเบีย เป็นเวลาถึง 8 ปี เมื่อกลับมาประเทศไทย ได้เข้าศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาตอนปลาย กับ กศน.อำเภอบางคนที  และจบปริญญาโทในเวลาต่อมา

243018

ด้วยความศรัทธาในหลักคิดอันทรงคุณค่าแห่งหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหาปราชญ์แห่งปวงชนชาวไทย ที่ทรงวางเสาเข็ม 3 ห่วง 2 เงื่อนไขให้คนไทยได้น้อมนำสู่การอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดยเขาเริ่มต้นที่ตนเองและครอบครัวก่อน แล้วจึงนำสู่ชุมชนอย่างมั่นคง เมื่อปี 2551 ได้เปิดศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านสารภีขึ้น เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ประชาชนในชุมชน และประชาชนทั่วไปที่สนใจปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างโดยการปฏิบัติจริง ซึ่งมีฐานการเรียนรู้สำหรับผู้สนใจถึง 65 ฐานการเรียนรู้ด้วยกัน อาทิ การเลี้ยงเป็ดหลุม ไก่หลุม เลี้ยงกบ ปลาดุก ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยน้ำชีวภาพ การเผาถ่าน 200 ลิตร น้ำส้มควันไม้ การเลี้ยงชันโรงเพื่อประโยชน์ในการผสมเกสรไม้ดอกไม้ผล การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร การปลูกผักปลอดสารพิษ การทำไข่เค็ม การถนอมอาหาร การแปรรูปสมุนไพร การผลิตน้ำตาลมะพร้าว การขยายพันธุ์พืชเพื่อการจำหน่าย การทำปุ๋ยอัดแท่ง ตู้อบแสงอาทิตย์ จักรยานปั่นเพื่อรดน้ำต้นไม้ เป็นต้น

243022

นอกจากนี้ นายสุชล ใช้ประสบการณ์จากการทำงานในประเทศซาอุดิอารเบีย มีน้ำมันเชื้อเพลิง และไม่มีทรัพยากรด้านอื่นๆ มาทดแทนได้ เมื่อคิดย้อนกลับมาดูสภาพของสังคมไทยแล้ว ประเทศไทยมีทรัพยากรมากมาย แต่ยังมีประชาชนอีกมากที่ยังไม่รู้คุณค่า ไม่รู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะทำให้หมดไปในที่สุด การดำรงชีวิตภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะสามารถช่วยให้ประเทศชาติอยู่รอดได้อย่างยั่งยืน ตนในฐานะของคนไทยคนหนึ่ง ที่มีจิตสำนึกในการใช้พลังงานอย่างประหยัด ได้สมัครเข้าเป็นอาสาสมัครการลดใช้พลังงาน และเป็นแกนนำร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลจอมปลวกในการกำจัดขยะมูลฝอย โดยเริ่มจากครัวเรือนของตนเอง และขยายผลไปยังหมู่บ้าน ตำบล มีการคัดแยกขยะให้กลับมาเป็นรายได้เข้าสู่ครัวเรือน ได้แก่ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก ส่วนเศษอาหารพืชผักต่างๆ นำไปใช้ทำปุ๋ยหมัก ช่วยลดการใช้ปุ๋ยเคมี การนำเศษไม้เศษฟืนไปเผาถ่าน ซึ่งมีน้ำส้มควันไม้เป็นผลพลอยได้ตามมา

243019

แนวทางในการขยายผลการดำเนินงานเพื่อประโยชน์และความสุขของชุมชนซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำงานของเขาอย่างไร ซึ่งเขาได้ให้คำตอบในเรื่องนี้สั้นๆ เพียง 2 ข้อ ข้อแรกเป็นหัวใจของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ว่าหัวใจคือการทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งจะขาดเสียมิได้ เพราะทำให้รู้ต้นทุนการผลิต รายรับ-รายจ่าย “1 ไร่ 1 แสน แก้จน” หัวใจหลักข้อที่ 2 คือ การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาปรับใช้โดยยึดหลัก  1 ไร่ 1 แสน พระองค์ท่านถือว่าอยู่ได้แล้วสำหรับครอบครัวหนึ่ง แต่สำหรับศูนย์เรียนรู้บ้านสารภี ดำเนินการได้เกินเป้า เป็น 1 ไร่ 2 แสนบาทต่อปี ซึ่งสำหรับบางคนเงิน 2 แสนอาจไม่มากมายอะไร ถ้าเทียบกับรายได้ต่อปี แต่แนวทางแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น จะเห็นชัดว่าต้นทุนการผลิตต่ำมาก ฉะนั้นยอดเงินออมสำหรับผู้มีรายได้สูงแต่ต้องซื้อสินค้าสำหรับอุปโภค บริโภคทุกสิ่งอย่าง อาจเทียบไม่ได้กับยอดคนออมของเกษตรกรของในหลวง และที่แน่ๆ ปริมาณความสุขแตกต่างกันอย่างแน่นอน

243021

ทั้งนี้ได้ให้คำแนะนำ และกระตุ้นให้เกิดความเคลื่อนไหวตลอดเวลา โดยใช้โทรศัพท์โทรตามบ้าง ใช้แอพพลิเคชั่น Line ในการสื่อสาร การแจกเอกสาร การประชุมร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เครือข่ายที่ได้รับความรู้ไป ได้จัดตั้งตลาดชุมชนเพื่อให้เป็นแหล่งหรือศูนย์กลางของชุมชนให้คนในชุมชนได้นำผลิตภัณฑ์ของตน เพื่อสร้างและกระต้นความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและสังคมให้ก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 อย่างยั่งยืน

สนใจข้อมูลติดต่อที่โทรศัพท์ 086 1784157 Website : www.sme-ssru.com/otop/banana/index.ph

ขอบคุณ ปชส.สำนักงาน กศน.