กศน.ขาณุฯ กำแพงเพชร จัด”ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ผอ.เน้นกลุ่มประชาชนเป็นหลัก…
“…การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้สามอย่าง แต่มีประโยชน์สี่อย่างคือ ไม้ใช้สอย ไม้กิน ไม้เศรษฐกิจ โดยปลูกรองรับการชลประทาน ปลูกรับซับน้ำและปลูกอุดช่วงไหล่ตามร่องห้วย โดยรับน้ำฝนอย่างเดียวประโยชน์ที่สี่คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ…” แนวพระราชดำรัสเกี่ยวกับป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ที่ได้พระราชทาน ณ โรงแรมริมคำ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2523
ตามที่สำนักงาน กศน. โดยนายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการ กศน. กล่าวว่า“ผมขอเชิญชวนชาว กศน. ทั่วประเทศ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง บนพื้นที่ของ กศน. เพื่อเป็นตัวอย่าง สร้างความพอเพียง”
ทั้งนี้ กศน. อำเภอขาณุวรลักษบุรี โดยนายอนันต์ แก้วทอง ผู้อำนวยการฯ เปิดเผยว่า “ได้จัดโครงการการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน กิจกรรม ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเปิดโครงการเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมาโดยได้จัดซื้อต้นยางนา มาจำนวน 500 ต้น เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ร่วมโครงการ เพื่อสืบสานแนวพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 และดำเนินการตามแนวทางศูนย์เรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการในครั้งนี้เน้นที่ประชาชนกว่า 300 คน
ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือให้ความสำคัญกับการปลูกป่า เป็นแนวคิดการผสมผสานการอนุรักษ์ดินน้ำ และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่กับความต้องการด้านเศรษฐกิจ ด้วย
ป่า 3 อย่าง
1. ป่าไม้ใช้สอย คือ ไม้โตเร็ว สำหรับใช้ในครัวเรือน เช่น สะเดา ไม้ไผ่ เป็นต้น
2. ป่าไม้กินได้ ไม้ผล เช่น มะม่วง และผักกินใบต่างๆ เป็นต้น
3. ป่าไม้เศรษฐกิจ คือ ไม้ที่ปลูกไว้ขาย หรือไม้เศรษฐกิจ เช่น ไม้สัก เป็นต้น
ประโยชน์ 4 อย่าง
1. ป่าไม้ใช้สอย นำมาสร้างบ้าน ทำเล้าเป็ด เล้าไก่ ด้ามจอบเสียม ทำหัตถกรรมหรือกระทั่งใช้เป็นเชื้อเพลิง (ฟืน)ในการหุงต้ม
2. ป่าไม้กินได้ นำมาเป็นอาหาร ทั้งพืชกินใบ กินผล กินหัว และเป็นยาสมุนไพร
3. ป่าไม้เศรษฐกิจ เป็นแหล่งรายได้ของครัวเรือน เป็นพืชที่สามารถนำมาจำหน่ายได้ควรปลูกพืชหลากหลายชนิดเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคาตกต่ำและไม่แน่นอน
4. ประโยชน์ในการช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ในสวนช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยความชื้อสู่สวนเกษตรกรรม
//ขอบคุณข้อมูล กศน.อ.ขาณุวรลักษบุรี