มิติใหม่ “เรียนดี มีความสุข” กสร.จังหวัดกำแพงเพชร ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
วันที่ 20 กันยายน 2566 ว่าที่เรือตรีชูชีพ อรุณเหลือง รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ เป็นประธานในการประชุมผู้บริหารกลุ่ม/ศูนย์ส่วนกลาง ผู้บริหารหน่วยงาน/สถานศึกษาและบุคลากร สังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้ สู่ภูมิภาค ณ โรงแรมทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท อำเภอเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยได้เปิดเผยถึงนโยบายการดำเนินงานของกรมส่งเสริมการเรียนรู้ในปีงบประมาณ 2567 ว่า กรมส่งเสริมการเรียนรู้ จะดำเนินการขับเคลื่อนงานตามนโยบายรัฐบาลและนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ) ดังนี้
1.ส่งเสริมและสนับสนุนการร่วมสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนากระบวนการส่งเสริมให้ประชาชนมีนิสัยรักการเรียนรู้ ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของการเรียนรู้ สนใจและใฝ่หาความรู้อย่างสม่ำเสมอมีกระบวนการทางสังคมที่ส่งเสริมให้บุคคล กลุ่มบุคคล และชุมชนเกิดการเรียนรู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมการสร้างสภาพแวดล้อมของชุมชน ท้องถิ่น สังคม ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และสนับสนุนการสร้างกลไกการขับเคลื่อนชุมชนในการปลูกฝังและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ ของประชาชนโดยอาศัยสื่อ เทคโนโลยีสารสนเทศ ทรัพยากรและแหล่งการเรียนรู้ที่มีการให้บริการอย่างครอบคลุมทั่วถึง จัดกิจกรรมการถ่ายทอดองค์ความรู้จากผู้ทรงภูมิปัญญาและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นภาคีเครือข่ายร่วมจัดและส่งเสริมการจัดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ชำนาญการในภูมิปัญญาท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้และเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.ส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคง การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการปกครองระบอบประชาธิปไตย การเรียนรู้ปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม สร้างวินัย มีจิตสาธารณะ มีอุดมการณ์ยึดมั่นในสถาบันหลักของชาติ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของชาติและท้องถิ่น เสริมสร้างวิถีชีวิตของความเป็นพลเมืองและมีศีลธรรมที่เข้มแข็งรวมถึงการมีจิตอาสา โดยผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การตัดสินใจ การสื่อสารระหว่างบุคคล การเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสังคม และการเมืองของโลกสมัยใหม่
3.พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร โปรแกรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ และวิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่มีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับสภาวการณ์ของประเทศและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยมุ่งพัฒนาประชาชนทุกช่วงวัยให้มีทักษะที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการดำรงชีวิต และมีหลักสูตรที่เหมาะสมและเป็นไปตามสภาพความต้องการ และความถนัด จบแล้วมีงานทำสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน
4.จัดให้มีระบบแนะแนวทางสำหรับผู้เรียน (Coaching) เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบแนวทางการเรียนและเป้าหมายชีวิตที่ตนเองชอบ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดระยะเวลาการเรียน
5.พัฒนาระบบเทียบระดับการศึกษา เทียบเคียงหรือเทียบโอนผลการเรียน ทักษะ ความรู้ ประสบการณ์และสมรรถนะ ให้มีมาตรฐาน เชื่อมโยงกับการศึกษาและการเรียนรู้ทุกรูปแบบ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเข้าศึกษาหรือการรับรองระดับการศึกษาต่างสถานศึกษาหรือต่างระบบได้ และผู้เรียนที่มีความสามารถเป็นเลิศ สามารถเรียนในระดับที่สูงขึ้นโดยไม่ยึดติดกับระยะเวลาในการศึกษา
6.พัฒนาระบบสะสมหน่วยการเรียนรู้ในธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank System) ที่สามารถเชื่อมโยงการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกระดับและประเภท สร้างความคล่องตัวและเปิดทางเลือกให้กับผู้เรียนทุกระดับเพื่อประโยชน์ในการรับรองคุณวุฒิ หรือการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพต่อไป
7.จัดทำระบบหรือแพลตฟอร์มการเรียนรู้ (Digital Learning Platform) ที่รองรับแพลตฟอร์มการ์เรียนรู้แห่งชาติของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้งแอปพลิเคชั่นหรือสื่อดิจิทัลที่มีคุณภาพครบวงจรเพื่อการเรียนรู้ ประชาชนสามารถเข้าถึงเนื้อหาสาระที่มีคุณภาพ ใช้ประโยชน์ในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ ในช่องทางเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ทั้ง Online On-site และ On-air ได้ทุกที่ ทุกเวลา (Anywhere Anytime)
8.จัด ส่งเสริม และสนับสนุนการเรียนรู้แบบ STEM Education (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง (Active Learning) ทั้งในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ และเสริมความสามารถด้าน Soft Skill ควบคู่กับการพัฒนา
9.พัฒนาความพร้อมในการส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ อาทิ การสนับสนุนงบประมาณในการลงทุนด้านเทคโนโลยีบูรณาการความร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างความพร้อมด้านเทคโนโลยีและการสื่อสารของหน่วยจัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุมพื้นที่การให้บริการประชาชน รวมทั้งสนับสนุนความร่วมมือในการสร้างมาตรการส่งเสริมภาคเอกชนเพื่อการลงทุนด้านการศึกษาและการเรียนรู้
10.พัฒนารูปแบบการดำเนินงานส่งเสริมการอ่านให้กับประชาชน พัฒนาแหล่งการเรียนรู้ที่มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน และพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและทั่วถึง อาทิ การพัฒนาความพร้อมของบุคลากรและการให้บริการของหน่วยจัดการเรียนรู้ ห้องสมุดประชาชนมีการบริการที่ทันสมัย ส่งเสริมและสนับสนุนอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน การสร้างเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน พร้อมทั้งพัฒนาสื่อและจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ที่หลากหลายให้บริการกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
11.จัดให้มีการฝึกอบรมอาชีพ เพื่อเป็นการเสริมสร้างทักษะใหม่ (New Skill) เพิ่มสมรรถนะ (Upskill) หรือทบทวนทักษะ (Reskill) ให้แก่ประชาชน อาทิ ช่างไฟฟ้า ช่างประปา ช่างแอร์ การค้าขาย การเกษตร ฯลฯ เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยประชาชน ลดรายจ่ายในครัวเรือน และสร้างเป็นอาชีพเสริมให้แก่ครอบครัวได้
12.แก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา และส่งเสริมให้ความรู้ด้านการเงินและการออม (Financial Literacy) การวางแผนและสร้างวินัยทางการเงินให้กับบุคลากร โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการคลัง ธนาคาร สหกรณ์ และสถาบันการเงินต่าง ๆ
โดย สำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดกำแพงเพชร นำโดย ว่าที่ พ.ต.ดำริห์ ติยะวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมกาเรียนรู้จังหวัดกำแพงเพชร นางดุจเดือน คำวัง รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการเรียนรู้จังหวัดกำแพงเพชร นายมงคล พลายชมพูนุท ผู้อำนวยการศูนย์การส่งเสริมการเรียนรู็อำเภอไทรงาม นายกำจร หัดไทย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมการเรียนอำเภอพรานกระต่าย พร้อมด้วยข้าราชการ และบุคลากรในสังกัดที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมและรับมอบนโยบาย ณ โรงแรมทีค การ์เด้น สปา รีสอร์ท อำเภอเชียงราย จังหวัดเชียงราย //ข่าว : นางสาวพิมพ์พจี พันธุ์ชัย