กศน.ระดมนักวิชาการติว 4 กศน.ภาคเหนือ “ปลูกป่าในหัวใจคน”

226714

“บูรณาการต่อยอดโครงการสร้างป่าสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ให้ตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกป่า เมื่อป่ามีความอุดมสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ตามมาคือประโยชน์ส่วนรวมและรายได้ในการเลี้ยงชีพ ตามพระราชปณิธานแห่งองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระเมตตา ห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทุกคน

226716

                   ดร.วิเลขา  ลีสุวรรณ์ รองเลขาธิการ กศน. กล่าวในโอกาสเป็นประธานเปิดการประชุมการดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ห้องช้างกระ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่ ว่า การดำเนินงานในโครงการดังกล่าว เริ่มต้นการดำเนินงานในรูปแบบผสมผสาน หรือที่เรียกว่า “สหวิชาการ” มาตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ โดยการนำความรู้ด้านกายภาพ ชีวภาพ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การสนับสนุนพันธุ์ไม้ป่า และองค์ความรู้ด้านป่าไม้จากกรมป่าไม้ พันธุ์ไม้เศรษฐกิจพร้อมองค์ความรู้ จากกรมส่งเสริมการเกษตร คณะทำงานที่เข้มแข็งในระดับอำเภอ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น การสนับสนุนด้านสื่อส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และภาคเอกชนอีกมากมายที่เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนในด้านต่างๆ กับทางโครงการ

226717

รองเลขาธิการ กศน. กล่าวต่อไปว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ครู กศน.ต้องมุ่งเน้นปลูกป่าในหัวใจประชาชนให้ตระหนักถึงความสำคัญในการปลูกป่า เมื่อป่ามีความอุดมสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ตามมาคือประโยชน์ส่วนรวมและรายได้ในการเลี้ยงชีพ ตามพระราชปณิธานแห่งองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระเมตตา ห่วงใยความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยทุกคน ทั้งนี้ ครู กศน.ที่ทำงานในเรื่องนี้ ถือเป็นแถวหน้าในการทำงานในชุมชน เพื่อชุมชนโดยแท้ เพราะฝังตัวอยู่ใกล้ชิดชุมชนที่สุด การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชนของคณะทำงานในแต่ละระดับเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ ทำอย่างไรให้คนมีส่วนร่วม ทำอย่างไรให้คนมีความตระหนัก ทำอย่างไรที่จะสร้างการยอมรับแก่ประชาชนถึงความสำคัญของการปลูกป่าเพื่อประโยชน์ของชาติในภาพรวมให้ได้ ในส่วนของการนิเทศติดตาม ประเมินผลสรุปรายงานการดำเนินงานของโครงการ ในพื้นที่สำนักงาน กศน.จังหวัด 4 แห่ง ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก และ น่าน จะดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2560 นี้ ซึ่งผลที่ได้จากการนิเทศติดตามและประเมินผลในครั้งนี้ จะทำให้เราได้รับทราบถึงผลสำเร็จ โอกาส ตลอดจนสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการต่อยอดโรงการให้เกิดเป็นรูปธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

226721

ด้าน นายวสันต์ กู้เกียรติกูล ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี กล่าวว่า การเรียนรู้มีด้วยกันหลายวิธี  แต่การเรียนรู้ต้องนำไปสู่การปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรม จึงจะเป็นผลสำเร็จของการเรียนรู้ ซึ่งหมายถึงต้องนำไปสู่การปฏิบัติให้ได้ โครงการนี้ได้ถูกออกแบบมาในการใช้สื่อเป็นหลักในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ โดยมีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เป็นผู้ดูแลในเรื่องนี้ ซึ่งสื่อที่ใช้ก็ต้องสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้ร่วมโครงการด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ด้วยการรวมกลุ่มโดยใช้วัฒนธรรมทางสังคมเป็นตัวกำกับ รวมกลุ่มรับชมสื่อร่วมกัน มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยมีครูบ้าน/ครู กศน. ทำหน้าที่เป็น Facilitator ทำหน้าที่สรุปประเด็นและดึงองค์ความรู้ที่ได้จากสื่อว่าสมาชิกได้อะไรบ้างจากสื่อที่ได้รับชม ทั้งนี้ สื่อที่ใช้ก็ควรมีความหลากหลาย ทั้งสื่อที่สร้างจิตสำนึก สื่อที่สร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วย

226719

ณัฐมน / ข่าว