เห็นภาพชัดเนื้อแท้ กศน. ผ่าน 7 ตอน”อ.เอกชัย”ก่อนโบกมือลาอ่านแล้วอึ้ง..!!กับสิ่งที่ได้ทำมา(มีคลิป)

17555091_1435899723127746_1689754783_n

“ได้รู้จัก กศน.มากขึ้นผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์เส้นทางชีวิต จากช่องทางสื่อสาร ผ่านเฟสบุ๊ค “เอกชัย ยุติศรี(เอก)” ก่อนเกษียณอายุราชการ อธิบายความคิด ตอกย้ำความทรงจำ และมองอนาคตของ กศน.”

1

            ตอนที่ 1 จุดเริ่มต้น ผม (นายเอกชัย ยุติศรี) รับราชการสังกัด กศน. มาตั้งแต่ยังไม่ตั้ง กศน. ..?! จะเกษียณวันที่ 1 ต.ค.2560 นี้แล้ว..(บางคนอาจจะบอกว่า แม้ผมจะเป็นคนเก่าของ กศน. แต่ก็เป็นคนเก่าประเภทตกยุค ไม่ทันโลกไม่ทันสมัย)ประมาณปี 2518 ได้รับการบรรจุแต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 มิ.ย.2519 เป็น“ครูผู้ช่วย โรงเรียนฝึกฝนอาชีพเคลื่อนที่ 42” เงินเดือน 1,080 บาท ที่จ.ร้อยเอ็ด ผมเป็นคนอยุธยา สอบบรรจุที่ กทม. แต่เลือกลงที่ร้อยเอ็ด เขาจึงให้ผมไปทำงานที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดร้อยเอ็ด รอจนกว่าจะตั้งกรมการศึกษานอกโรงเรียน ผมช่วยปฏิบัติหน้าที่ในงานบุคลากรกรมสามัญศึกษาและงาน“สอบเทียบ”ของกรมวิชาการจนเมื่อตั้งศูนย์การศึกษาประชาชนจังหวัด โดยท่านชาติชาตรี โยสีดา เป็นหัวหน้าศูนย์การศึกษาประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด ผมก็เปลี่ยนมาทำงานที่ศูนย์การศึกษาประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ดตั้งแต่ปี 2522 ได้ฝึกประสบการณ์ต่าง ๆ จากท่านชาติชาตรี โยสีดา ซึ่งท่านเรียนจากต่างประเทศ ถือเป็นบุคคลที่ทันโลกทันสมัยในวงการศึกษา มากที่สุดคนหนึ่ง

6
            ตอนที่ 2 ชีวิตของครู กศน. บุคลากร กศน.ร้อยเอ็ด มีท่านชาติชาตรี โยสีดา เป็นต้นแบบปลูกฝังวิธีการทำงาน จนเจริญก้าวหน้าเป็นที่รู้จักของคน กศน.ทั่วประเทศ มากหลายคนช่วง 15 ปีแรก บุคลากรยังน้อย งานมาก แต่พวกเรารักและสนุกกับการทำงาน กศน. ทั้งๆที่ ทำงานยาก เพราะชนบท การคมนาคมไม่สะดวกผอ.พาผมกับคณะไปนิเทศโรงเรียนผู้ใหญ่ (สอนช่วงค่ำวันจันทร์-ศุกร์ ) แต่ละรอบ ต้องไปพักค้างคืนตามบ้านพักศึกษาธิการอำเภอ ครั้งละ 2-3 คืนทุกคนมีส่วนร่วมกับทุกงาน วันหยุดก็เปลี่ยนเวรกันบริการในห้องสมุดประชาชนจังหวัด ซึ่งเปิดบริการในวันหยุด  กศน.สมัยนั้นมีหน่วยออกเร่ฉายหนังให้ชาวบ้านดูเพื่อการประชาสัมพันธ์รวมคนให้หน่วยงานต่างๆ การจัดการอบรมชาวบ้านในอำเภอต่าง ๆ ก็ไปจัดที่วัด ค้างคืนที่วัด เช่น การอบรมผู้ใหญ่ในชนบท-อบรมเกษตรกร อบรม 15 วัน ก็พักค้างคืนที่วัดกัน 15 วัน เพราะการคมนาคมไม่สะดวก ผมเป็นครูสอนภาคค่ำ ชั้นเรียนในศูนย์จังหวัดด้วย และเป็นครู กศน.ทาง วปณ. ( วิทยุและไปรษณีย์ ซึ่งเป็นการจัดการศึกษาทางไกลในระยะแรกของ กศน.) ด้วย ต้องเขียนบทวิทยุเอง และบันทึกเทปเสียงกันเอง เพื่อส่งไปออกอากาศที่สถานีวิทยุ (ที่ชั้นบนของห้องสมุดประชาชนจังหวัดร้อยเอ็ด มีห้องบันทึกเทป) เป็นผู้ประสานงาน กศน.กิ่งอำเภอจังหารต่อมา เมื่อจะตั้ง ศบอ. รุ่นแรก แต่ผมไม่รับ ขอทำงานในจังหวัดต่อไป เหตุผลในช่วงนั้นคือปกติผมไม่พูดภาษาอีสาน ไม่เหมาะจะทำงานอยู่กับชาวบ้านตลอดเวลา และผมยังไม่มีแม้แต่รถจักรยานยนต์ ถึงจะแค่ 11 กม. ก็เดินทางลำบากพวกเราที่เป็นคนต่างอำเภอต่างจังหวัด ผมเคยพักอาศัยอยู่ร่วมกันกับท่านผู้ตรวจราชการ/รก.ศธข. ดร.วีระกุล อรัณยะนาค ประมาณ 10 ปี การสอนการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จสมัยก่อน สอนโดยครูอาสาสมัครฯ ไปสอนในแต่ละหมู่บ้าน เช่น สอนบนศาลาวัดสื่อการเรียนการสอน หลักการคือ เกี่ยวข้องกับสภาพที่เป็นจริงของผู้เรียน สอนในช่วงเวลาที่ชาวบ้านว่าง คือตอนค่ำ ซึ่งสมัยก่อนไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึงระดับหมู่บ้านฉะนั้นอุปกรณ์สำคัญที่ครูอาสาสมัครต้องเบิกไปทุกคน คือ ตะเกียงเจ้าพายุ กับน้ำมันก๊าด(เบิกไปทีละปี๊บ)การเดินทางไม่สะดวกต้องอาศัยรถประจำทางที่มีวันละ 2 เที่ยว ครูอาสาฯจึงต้องไปกินนอนอยู่ในพื้นที่เลย บางคนไปขออยู่ที่บ้านพักศึกษาธิการอำเภอ เข้า กศน.จังหวัด เดือนละไม่กี่วัน

            ตอนที่ 3 ในยุคปฏิรูประบบราชการ (รีเอ็นจิเนียริ่ง) ผมซึ่งเป็นผู้รับงานดูแลเรื่องรีเอ็นจิเนียริ่งนี้ จึงทำได้ดี จนได้รับคัดเลือกจากส่วนกลาง เป็น 1 ใน 4-5 คน จากทั่วประเทศ ให้เข้าไปเป็นทีมงานดูแลเรื่องนี้อยู่ที่ส่วนกลาง และได้ไปศึกษาดูงานที่สิงคโปร์เป็นรางวัล ผมทำงานอยู่ที่ กศน.ส่วนกลางระยะหนึ่ง เมื่อ ดร.รุ่ง แก้วแดง ย้ายไปจาก กศน. ผมก็กลับไปทำงานที่ จ.ร้อยเอ็ด ผมถนัดงานด้าน ICT ผมเคยสมัครเข้าคอร์สอบรมหลักสูตรประมาณ 25 ชั่วโมง เรื่อง“เวิร์ดจุฬาฯ”(เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการพิมพ์เอกสาร ยุคเก่า ก่อนที่จะมีโปรแกรมเวิร์ดชุดไมโครซอฟต์ออฟฟิศในสมัยนี้ สมัยนั้นยังไม่มีเครื่องสแกนภาพ แม้แต่ภาพครุฑที่จะใส่หัวกระดาษหนังสือราชการ ผมก็ใช้โปรแกรมเพ้นท์วาดรูปครุฑเอง) หลังจากนั้นผมก็ศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ด้วยตนเองตลอด โดยซื้อหนังสือจากร้านหนังสือมาศึกษาเอง ในที่สุดผมก็เป็นผู้ที่เก่งคอมพิวเตอร์ในจังหวัดในช่วงที่ กศน.พัฒนาโปรแกรม ITw มาใช้ในงานทะเบียนของสถานศึกษา (กศน.ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในงานทะเบียนนักศึกษา ก่อนสังกัดอื่น ๆ นานมาก) ผมก็ได้เป็นวิทยากรระดับภาคในโปรแกรมนี้(ช่วงที่สถานศึกษาต่าง ๆ ยังไม่มีเว็บไซต์กัน ผมทำเว็บไซต์ กศน.อ.ผักไห่ จนมีชื่อเสียง ได้รางวัลจากท่าน ดร.อาทร จันทรวิมล อธิบดี กศน. เป็นโน๊ตบุ๊ก 1 เครื่อง ซึ่งตอนนั้นโน๊ตบุ๊กยังราคาแพงประมาณครึ่งแสน )ในช่วงที่ กศน.นำโปรแกรม ITw เข้ามาใช้ใหม่ ๆ บุคลากรส่วนใหญ่ยังไม่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ จึงไม่เห็นด้วย มีการทำผิด ๆ พลาด ๆ จนหลายแห่งต่อต้านไม่ยอมใช้ เห็นแต่ข้อเสีย กว่าจะยอมใช้กันครบทุกอำเภอก็ผ่านไป 3 ปี แต่หลังจากผ่านไปมากกว่า 5 ปี ทุกคนยอมรับในประโยชน์ของโปรแกรม ITw จนปัจจุบันหลายแห่งใช้แต่โปรแกรม ITw เลิกทำทะเบียนในระบบเอกสารไปแล้ว ทั้ง ๆ ที่ ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคู่กับทะเบียนที่เป็นเอกสาร-กระดาษ

            ตอนที่ 4 สรุปการจัดการศึกษาของ กศน. แบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ รวม 3 ประเภท พื้นฐาน-ต่อเนื่อง-อัธยาศัย นี้ มีความแตกต่างกัน ไม่เหมือนกัน ผมคิดว่าเมื่อรวม 3 ประเภทนี้ จะมีทางเลือกมากพอสำหรับประชาชนทุกกลุ่มโดยเฉพาะการศึกษาต่อเนื่องกับการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถพัฒนาหลักสูตร หรือเนื้อหา ที่สอดคล้องกับสภาพความต้องการและปัญหาของประชาชนได้มากมาย ไม่จำกัด แต่หลักสูตร กศ.ขั้นพื้นฐาน มีลักษณะเฉพาะที่มีความจำกัดอยู่บ้าง เพราะเป็น กศ.ขั้นพื้นฐานสำหรับ การดำเนินชีวิต-ประกอบสัมมาอาชีพ-ศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง ที่จะได้วุฒิการศึกษาตาม “จุดหมาย”

            ตอนที่ 5 การทำงานที่ กศน.อ.ผักไห่ อยุธยา ผมได้รับเกียรติเป็น กรรมการ/คณะทำงาน ระดับประเทศ ของกระทรวงศึกษาธิการ และกรมวิชาการไปทำงานให้กรมวิชาการเกี่ยวกับการสร้างเครื่องมือวัดผล ปีละ 2-3 สัปดาห์ (เครื่องมือของกรมวิชาการ ไม่ได้ทำสัปดาห์เดียวเสร็จ แต่ต้องนำไปทดลองและนำผลการทดลองมาวิเคราะห์คุณภาพ+ปรับแก้ไข และอาจต้องทดลอง+ปรับแก้เป็นครั้งที่ 2 จึงจะนำไปใช้ได้ )ส่วนงานของกระทรวงฯ ผมได้รับการแต่งตั้งลงนามโดย รมว.ศธ. (นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล) ให้เป็นคณะกรรมการดำเนินการกำหนดเขตพื้นที่การศึกษา เพราะเดิมผมเป็นตัวแทน กศน.เป็นอนุกรรมการใน สนง.ปฏิรูปการศึกษา ที่มี ศ.วิจิตร ศรีสอ้าน เป็นประธานช่วงนั้น ทั้งเพื่อการดำเนินชีวิต-ประกอบสัมมาอาชีพ-ศึกษาเรียนรู้ต่อเนื่อง เพื่อให้ทุกกลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกและมีความพร้อมในเส้นทางชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้ทุกเส้นทาง กศ.ขั้นพื้นฐานทุกสังกัดต้องใกล้เคียงกัน มีวิชาบังคับเป็นแกน ให้มีศักดิ์และสิทธิเท่ากัน

33

            ตอนที่ 6 วิธีสอนของ กศน. มีมากมายหลายวิธี นับไม่ถ้วนจริง ๆ เพราะ ทุกคน สามารถคิดค้นวิธีสอนขึ้นมาใหม่ได้ วิธีสอนที่คิดขึ้นใหม่ก็ถือเป็น นวัตกรรม บางคนก็ใช้วิธีสอนของผู้อื่นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิธีที่ดี เช่น วิธีสอนของพระพุทธเจ้า วิธีสอนแบบให้เรียนโดยการปฏิบัติ วิธีสอนแบบให้ทำโครงงาน ฯลฯ ผมเรียนจบ ป.โท สาขาวิชาเอก“การจัดการการเรียนรู้”ด้วยเกรดเฉลี่ย 4.00 งานวิจัยได้ดีเยี่ยม งานวิจัยของผมก็ทำเรื่องเกี่ยวกับวิธีสอน คือเรื่อง“การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ในการอ่านจับใจความภาษาไทย และเจตคติต่อวิชาภาษาไทย ของ นศ.กศน. ระหว่างกลุ่มที่เรียนโดยกระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ กับการเรียนด้วยตนเอง”วิธีการเรียนการสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ ( Group Process ) คือ การเรียนการสอนที่แบ่งกลุ่มผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย กลุ่มละประมาณ 7 คน ให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองจากการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มย่อย เน้นกิจกรรมการปฏิบัติจริง สมาชิกทุกคนมีบทบาทหน้าที่ภายในกลุ่ม มีปฏิสัมพันธ์แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่อกัน เพื่อเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทำให้ได้รับความรู้ความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีต่อกัน เต็มใจที่จะช่วยเหลือกันเพื่อให้งานกลุ่มบรรลุผลสำเร็จ โดยปรึกษาหารือวางแผนการทำงานและร่วมกันวิเคราะห์ประสบการณ์การเรียนรู้ภายในกลุ่ม แล้วสรุป นำไปประยุกต์ใช้ ผู้สอนเป็นผู้ประสานงาน กลุ่มย่อยนี้เมื่อผมสอนเสริมที่ กศน.อำเภอผักไห่ ก็ใช้วิธีสอนแบบกลุ่มสัมพันธ์นี้ ทั้งในการสอนเสริมวิชาวิทยาศาสตร์และวิชาคณิตศาสตร์ ในทุกครั้ง เพราะรู้สึกว่าวิธีนี้ นศ.จะไม่ค่อยเครียด ไม่ค่อยเบื่อ

2
            ตอนที่ 7 ตอนจบ ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ผมตอบคำถามในอินเทอร์เน็ต ซึ่งการเผยแพร่ข้อมูลและตอบคำถามในอินเทอร์เน็ตนี้เคยทำให้ผมได้รับรางวัล ได้โล่ ได้เกียรติบัตร ทั้งจากระดับจังหวัด จากอธิบดี กศน. และจากปลัดกระทรวง ศธ. โดยผมเริ่มตอบครั้งแรกในเว็บบอร์ดของ เว็บไซต์ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอผักไห่ต่อมาเมื่อเป็นที่รู้จักแล้ว อ.อุกฤษณ์ ทองสุนทร ขอให้ผมช่วยตอบคำถามในเว็บบอร์ดของ สพร.กศน.ด้วย และต่อมาผมตอบทางเว็บบล็อก gotoknow.org ภายหลังจึงเปลี่ยนมาใช้เว็บบล็อก blogspot.comและตอบคำถาม/เผยแพร่ข้อมูลในเฟซบุ๊ค แต่ละคนคิดต่างกัน มีมุมมองต่างกัน คนที่ถนัดวิทยาศาสตร์ก็เห็นประโยชน์ของวิทยาศาสตร์ แต่คนที่ไม่ถนัดวิทยาศาสตร์ก็บอกว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้านคนที่ไม่ถนัดคณิตศาสตร์ก็บอกว่าคณิตศาสตร์ไม่มีประโยชน์กับชาวบ้าน ตอนที่ผมทำเอกสารเพื่อเลื่อนเป็นอาจารย์ 3 โดยทำผลงานวิชาการเรื่อง คู่มือการวัดผลและประเมินผลหมวดวิชาคณิตศาสตร์ ที่หน้าปกเอกสารของผมมีประโยคว่า “คณิตศาสตร์เป็นสิ่งที่อยู่กับธรรมชาติและชีวิตประจำวัน”

3

เรื่องราวของอาจารย์เอกชัย ยุติศรี ถือเป็นต้นแบบของครู กศน.ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบัน มุมมองแนวคิด การทำงาน สะท้อนภาพ กศน.ได้อย่างชัดเจน เป็นแบบอย่างให้คน กศน.รุ่นหลังได้เรียนรู้และร่วมกันพัฒนางาน กศน.ให้รุดหน้าต่อไป “เรียนรู้อดีต เพื่อพัฒนาอนาคต กศน.” ก็ว่าได้(หากมีข้อผิดพลาดประการใดผู้เรียบเรียงขออภัยมา ณ โอกาสนี้)

//ขอบคุณข้อมูลภาพ เอกชัย ยุติศรี , เรียบเรียง กำจร หัดไทย