การศึกษาตามอัธยาศัย
การจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
การศึกษาตามอัธยาศัย ไม่ใช่ของใหม่แต่เป็นการศึกษาที่มีมาตั้งแต่มนุษย์เกิดขึ้นในโลกมนุษย์เรียนรู้จากธรรมชาติ เช่นในสังคมเกษตรกรรมมนุษย์เรียนรู้การหนีภัยจากธรรมชาติ และการหาอาหาร การทำสวนครัวจากพ่อแม่ หรือสมาชิกในครอบครัว แต่ในสังคม อุตสาหกรรม มนุษย์เรียนรู้มากขึ้นจากการติดต่อค้าขาย การอ่านการเขียน การฟังวิทยุ การดูโทรทัศน์ ในปัจจุบันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ทำให้มนุษย์ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา
ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย
ในพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ.2551 ได้ให้คำจำกัดความของการศึกษาตามอัธยาศัย ไว้ว่า “การศึกษาตามอัธยาศัย” หมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคลซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พุทธศักราช 2542 มาตรา 15 ได้นิยามการศึกษาตามอัธยาศัย ไว้ว่า “การศึกษาตามอัธยาศัย” เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งความรู้อื่นๆ
\"การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง วิธีการที่หลากหลายที่นำไปสู่การเรียนรู้อาจเกิดขึ้นโดยการถูกผลักดันให้เกิดขึ้นผ่านกระบวนการสนทนา เกี่ยวข้องกับการสำรวจ และขยายประสบการณ์ โดยไม่อาจทำนายล่วงหน้าได้ เป็นสิ่งที่บังเอิญเกิดขึ้นอุบัติขึ้น(วิศนี ศิลตระกูล และอมรา ปฐภิญโญบูรณ์, 2544: 2-3)\"
การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถีชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน จากบุคคล จากครอบครัว จากชุมชน จากแหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอน ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอน เรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความรู้และนันทนาการ อีกทั้งยังไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต (กรมการศึกษานอกโรงเรียน,2538: 83)
ศูนย์ส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย กรมการศึกษานอกโรงเรียน (2544) ให้นิยามการศึกษาตามอัธยาศัยว่า เป็นการจัดสภาพแวดล้อม สถานการณ์ ปัจจัยเกื้อหนุน สื่อ แหล่งความรู้ และบุคคล เพื่อส่งเสริมให้บุคคล ได้เรียนรู้ตามความสนใจ
ปฐม นิคมานนท์ (2532 : 112) ให้ความหมายว่า การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นกระบวนการตลอดชีวิต ซึ่งบุคคลได้เสริมสร้าง เจตคติค่านิยม ทักษะ และความรู้ต่างๆ ในสภาพแวดล้อม เช่น การเรียนรู้จากครอบครัว เพื่อนบ้าน จากการทำงาน การเล่น จากตลาด ร้านค้าห้องสมุด ตลอดจนเรียนรู้จาก สื่อมวลชนต่างๆ ตัวอย่าง เช่น เด็กเรียนรู้เกี่ยวกับภาษาและคำศัพท์ต่างๆ จากบ้าน เด็กหญิงเรียนรู้วิธีทำกับข้าว การเลี้ยงน้อง การจัดบ้านเรือน การอบรมสั่งสอน และการสังเกตจากมารดา เด็กผู้ชายเรียนรู้ด้านอาชีพจากบิดา เรียนรู้การเฝ้าดูและสังเกตธรรมชาติ หรือ แม้แต่การค้นพบสิ่งต่างๆ โดยบังเอิญ หรือเรียนรู้โดยไม่ได้ตั้งใจเป็นต้น
ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ และคณะ (2544 : 33-34) ให้นิยามการศึกษาตามอัธยาศัยว่า เป็นการจัดสภาพแวดล้อม สถานการณ์ ปัจจัยเกื้อหนุนสื่อ แหล่งความรู้ และบุคคล เพื่อส่งเสริมให้บุคคลได้เรียนรู้ตามความ สนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตทั้งของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม
Coombs และ Ahmed (1974)ให้ความหมายว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งบุคคลแสวงหาและรับความรู้ ทักษะ ทัศนคติความเข้าใจที่กระจ่างชัดที่เกี่ยวกับประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน และการแสดงออกต่อสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวบุคคล
(Evan, 1981:chapter II) การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึงผลของการเรียนรู้อันเกิดจากสถานการณ์ที่ผู้เรียน หรือแหล่งความรู้อย่างใดอย่างหนึ่ง มีเจตจำนงเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ทั้งสองปัจจัยเกิดตรงกัน
รูปแบบการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยไม่มีรูปแบบการศึกษา หรือการเรียนรู้ที่ตายตัว ไม่มีหลักสูตรเป็นตัวกำหนดกรอบกิจกรรม หรือขอบข่ายสาระการเรียนรู้ การเรียนรู้ขึ้นอยู่กับความต้องการ และแรงจูงใจใฝ่รู้ของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ดี เราสามารถจัดกิจกรรม เพื่อเสริมให้เกิดการเรียนรู้ตามอัธยาศัยได้ ดังนี้
-จัดกิจกรรมในแหล่งการเรียนรู้ประเภทต่างๆ เช่นห้องสมุดประชาชน การเรียนรู้ด้วยระบบคอมพิวเตอร์ออนไลน์ พิพิธภัณฑ์ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน การจัดกลุ่มเสวนา หรือการอภิปราย กิจกรรมทางศาสนาและวัฒนธรรม กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน การเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล และความรู้ต่างๆ ฯลฯ
-ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ สนับสนุนสื่อแก่หน่วยงานและแหล่งความรู้ต่างๆ
-ส่งเสริมให้หน่วยงานเครือข่ายจัดการศึกษาตามอัธยาศัย เช่น ห้องสมุดในสถานที่ราชการ สถานประกอบการ ฯลฯ
-ส่งเสริม สนับสนุนการพัฒนากลุ่มต่างๆ ตามความต้องการ และความสนใจ เช่น กลุ่มดนตรี กลุ่มสิ่งแวดล้อม พัฒนาชุมชน ฯลฯ
แนวคิดทฤษฏีการศึกษาตามอัธยาศัย
1. ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัย
มนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษที่สำคัญประการหนึ่ง คือสามารถรับรู้และพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา และตลอดการดำเนินชีวิตของแต่ละคน ความสามารถนี้ได้สั่งสมพัฒนาสืบทอด ต่อกันมาเป็นลำดับ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เราเรียกกระบวนการเรียนรู้ของมนุษย์นี้ว่า “การศึกษา” ดังนั้นการศึกษากับการดำเนินชีวิตของมนุษย์จึงเป็นกระบวนการอันหนึ่งอันเดียวกัน กระบวนการนี้เกิดขึ้นต่อเนื่องอยู่ตลอดชีวิต และมีการถ่ายทอดความรู้จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งเป็นลำดับตลอดมา ดังนั้นตลอดระยะเวลาแห่งวิวัฒนาการของมนุษย์ มนุษย์จึงมีการศึกษาอยู่แล้ว โดยธรรมชาติทำให้สามารถพัฒนาตนเอง ให้อยู่รอดและสร้างสรรค์ความเจริญต่าง ๆ สืบมาได้จนถึงปัจจุบัน จากการศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การเรียนรู้จากการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน และเป็นการเรียนรู้ตามความสนใจของมนุษย์โดยแท้ ไม่มีระบบหรือระเบียบตายตัว หากปรับเปลี่ยนไปตามความสนใจของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ (รุ่ง แก้วแดง, 2538)
จีระ งอกศิลป์ และคณะ (2550) กล่าวว่า การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อม และโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์ สังคม สภาพแวดล้อม สื่อ หรือแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ สถานศึกษาอาจจัดการศึกษาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งหรือทั้งสามรูปแบบก็ได้ ให้มีการเทียบโอนผลการเรียนที่ผู้เรียนสะสมไว้ในระหว่างรูปแบบเดียวกันหรือต่างรูปแบบได้ไม่ว่าจะเป็นผลการเรียนจากสถานศึกษาเดียวกันหรือไม่ก็ตาม รวมทั้งจากการเรียนรู้นอกระบบ ตามอัธยาศัย การฝึกอาชีพ หรือประสบการณ์การทำงาน
อุดม เชยกีวงศ์ (2551) กล่าวว่า การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิตประจำวันของบุคคล ซึ่งสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาสความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล
อุดม เชยกีวงศ์ ยังได้อ้างอิงถึงความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยจากหลายแนวคิดของบุคคลต่าง ๆ ดังนี้
อุดม เชยกีวงศ์ (2551 ; อ้างอิงใน คูมส์. 1985) กล่าวว่า การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กระบวนการศึกษาตลอดชีวิต ที่ทุกคนได้รับและสะสมความรู้ ทักษะ เจตคติ และการรู้แจ้งจากประสบการณ์ประจำวัน และการสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมทั้งที่บ้าน ที่ทำงานและสนามเด็กเล่น และเจตคติของสมาชิกครอบครัว และเพื่อน ๆ จากการเดินทางการอ่านหนังสือพิมพ์ และหนังสืออื่น ๆ หรือโดยการฟังวิทยุ หรือการดูภาพยนตร์ หรือ ดูโทรทัศน์ตามปกติแล้ว การศึกษาตามอัธยาศัยไม่มีการจัด ไม่มีระบบ และบางครั้ง ไม่ได้ตั้งใจแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ไปตลอดชีวิต ของแต่ละคนอยู่อย่างมาก แม้แต่ผู้มีการศึกษาในโรงเรียนมาแล้วก็ตาม
อุดม เชยกีวงศ์ (2551 ; อ้างอิงใน สุนทร สุนันท์ชัย. 2532) กล่าวว่า การศึกษาตาอัธยาศัย หมายถึง การได้รับความรู้ ทักษะ เจตคติ จากประสบการณ์ประจำวันใน ครอบครัว ชุมชน จากการทำงาน การเล่น ห้องสมุด สื่อมวลชน และอื่น ๆ ในสภาพแวดล้อมของบุคคล
อุดม เชยกีวงศ์ (2551 ; อ้างอิงใน ปฐม นิคมานนท์. 2532) กล่าวว่า การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง เป็นกระบวนการตลอดชีวิต ซึ่งบุคคลได้เสริมสร้างเจตคติ ค่านิยม ทักษะและความรู้ต่าง ๆ ในสภาพแวดล้อม เช่น การเรียนรู้จากครอบครัว เพื่อนบ้าน จากการทำงาน การเล่น จากตลาด ร้านค้า ห้องสมุด ตลอดจนเรียนรู้จากสื่อมวลชนต่าง ๆ เป็นต้น
อุดม เชยกีวงศ์ (2551 ; อ้างอิงใน วิจิตร ศรีสะอ้าน. ม.ป.ป.) กล่าวว่า การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง เป็นกระบวนการตลอดชีวิต ซึ่งบุคคลแต่ละคนแสวงหาความรู้พัฒนาทักษะค่านิยมและสร้างเสริม ทักษะจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันโดยอาศัยแหล่งวิทยาการที่มีอยู่ใกล้ตัว ตามสภาพแวดล้อม
อุดม เชยกีวงศ์ (2551 ; อ้างอิงใน มัลลิกา พงศ์ปริตร. 2535) กล่าวว่า การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การศึกษาตามอัธยาศัยนั้นเกิดขึ้นได้ทุกขณะจิต ไม่ว่าสิ่งใดที่ผ่านเข้ามากระทบสัมผัสประสาททั้งห้า ย่อมมีผลต่อจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดของผู้รับทั้งสิ้น จุดสำคัญอยู่ที่ว่าผลกระทบนั้นจะเป็นไปในทางลบหรือทางบวกหากผู้รับรู้ตัวและรู้จักต้านสิ่งซึ่งไม่พึงประสงค์ รับแต่สิ่งที่จรรโลงใจ ประเทืองปัญญา ส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราเรียก “การศึกษาตลอดชีวิต” ก็จะเกิดขึ้นได้อย่างอัตโนมัติ
อุดม เชยกีวงศ์ (2551 ; อ้างอิงใน Shibuya Hideyoshi. 1990) กล่าวว่า การศึกษาตามอัธยาศัยหมายถึง กระบวนการที่มนุษย์ได้รับการถ่ายทอดการสั่งสมความรู้ ทักษะ เจตคติ ความคิด จากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน และสิ่งแวดล้อมตลอดชีวิต เป็นการศึกษาที่ไม่มีองค์กร ไม่มีระบบ ไม่มีจุดมุ่งหมาย ไม่ตั้งใจ และเรื่องที่ได้รับการถ่ายทอดก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับวิถีในสังคม
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า การศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง การเรียนรู้ซึ่งเกิดจากการดำเนินชีวิตของแต่ละบุคคลในแต่ละวัน เช่น การดูหนัง การฟังเพลง การเล่นกีฬา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการเรียนรู้ที่หมายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยไม่มีการจัดระบบแต่สามารถเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้รอบตัว โดยไม่มีการบังคับ ขู่เข็น ให้เรียนรู้ แต่เกิดจากความพึงพอใจของบุคคลนั้น ๆ จึงเรียกว่า การเรียนรู้ตามอัธยาศัย
2. ทฤษฏีของการศึกษาตามอัธยาศัย
อุดม เชยกีวงศ์ (2551 ; อ้างอิงใน วิจิตร ศรีสะอ้าน. 2551) ได้กล่าวถึง องค์กรและสถาบันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาตามอัธยาศัย ของแต่ละคนจากสังคมที่ใกล้ตัวจนถึงสังคมภายนอก ได้แก่
1. สถาบันครอบครัว
2. สถาบันสื่อมวลชน
3. แหล่งชุมชน
4. แหล่งนันทนาการ
5. สถาบันการศึกษา
6. หน่วยงานบริการของรัฐ
7. องค์กรเอกชน
8. แหล่งทรัพยากรธรรมชาติ
9. ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ชัยศ อิ่มสุวรรณ์ (2544) กล่าวว่า การทำความเข้าใจการศึกษาตามอัธยาศัยควรจะพิจารณาประเด็นต่อไปนี้ คือ
1. การศึกษาตามอัธยาศัยเกิดขึ้นได้ทุกหนทุกแห่งตามแต่สถานการณ์จะพาไปสถานการณ์แห่งการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาไม่จำกัดสถานที่ อายุ กลุ่ม รูปแบบ หรือวิธีการเรียนรู้
2. การเรียนรู้เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีความสัมพันธ์กับสิ่งที่จะก่อให้เกิดการเรียนรู้ จะเป็นบุคคลวัตถุสิ่งของ สถานการณ์ใด ๆ ก็ตาม จะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม เช่น เรียนจากพ่อแม่ เรียนจาการทดลองทำ เรียนจากสัมผัสวัสดุ สิ่งของ สื่อ ฯลฯ การเรียนรู้ดังกล่าวเกิดขึ้น ณ จุดหนึ่ง ภายในใจของบุคคลเป็นจุด “รุจิ” ที่เกิดขึ้นเป็นกระบวนภายใน
3. ลักษณะของการเรียนรู้ที่เกิดจากการศึกษาตามอัธยาศัย โดยทั่วไปมีลักษณะเฉพาะที่
3.1 เป็นการเรียนรู้ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของการสนทนา (Conversation Base)
3.2 ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดการเรียนรู้ด้วยตนเอง นับแต่เลือกที่จะเรียนรู้หรือไม่เรียน จะเรียนเรื่องใด และพอเพียงแล้วหรือยัง
3.3 การเรียนรู้คาดหมายล่วงหน้าไม่ได้ (Unpredictable) บางสถานการณ์เกิดการเรียนรู้ แต่บางสถานการณ์ไม่เกิดการเรียนรู้ บางคนเกิดการเรียนรู้ แต่ในสถานการณ์เดียวกัน บางคนไม่เกิดการเรียนรู้
3.4 การประเมินผลอยู่ที่ตัวผู้เรียนเองเป็นสำคัญ แต่บางกรณีขึ้นอยู่กับบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย ที่จะยอมรับความรู้ที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีรูปแบบการประเมินที่ชัดเจนแน่นอน
4. ผลของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการศึกษาตามอัธยาศัยนั้น มีอยู่โดยไม่รู้ตัวเพราะเป็นการสั่งสมมาทีละเล็กทีละน้อยไม่อาจคาดหวังได้ว่าผลการเรียนรู้เป็นอย่างไรจนกว่าจะนำมาใช้ในชีวิตจริงการประเมินจึงทำได้ไม่ง่าย เพราะคุณค่าของผลการเรียนตามอัธยาศัยไม่ใช่สิ่งที่จะนำไปสู่การเรียนต่อได้มากเท่ากับการนำไปใช้ในชีวิตจริง
5. การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยจึงเป็นเพียงการจัดการให้บุคคลเรียนรู้อย่างไม่เป็นทางการในรูปแบบที่หลากหลาย โดยการจัดสภาพแวดล้อม ปัจจัยเกื้อหนุนบรรยากาศ สถานการณ์ให้บุคคลได้เรียนรู้ กล่าวโดยสรุป ความหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยจึงอาจพิจารณา ได้จาก 2 มุมมองได้แก่
1. จากมุมมองของผู้เรียน การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิตที่เกิดขึ้นจากตัวของผู้เรียนเอง โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย และผลของการเรียนรู้เกิดจากหรือเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของผู้เรียน
2. จากมุมมองของผู้จัดการศึกษา การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ใช้บุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคม และสื่อต่าง ๆเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการสื่อความหมายต่าง ๆ เป็นฐานของกระบวนการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ การทำงาน การดำรงชีวิตประจำวัน สภาพแวดล้อม เป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเรียนรู้
วีรฉัตร สุปัญโญ (2548) ได้สรุปลักษณะสำคัญของการศึกษาตามอัธยาศัยตั้งอยู่บนฐานคติ 4 ด้านต่อไปนี้
1. ฐานคติด้านความรู้ ประกอบด้วย
1.1 ความรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา
1.2 ความรู้เกิดจากกิจกรรมและความสนใจของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
1.3 ความรู้เกิดขึ้นได้ทั้งโดยจงใจและไม่จงใจ
1.4 ความรู้ไม่จำเป็นต้องสนองตอบวัตถุประสงค์ทางการศึกษาเสมอไป
1.5 ความรู้ไม่จำเป็นต้องจัดเป็นรายวิชา อาจอยู่ในรูปแบบของกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ
1.6 ความรู้อาจตั้งขึ้นแบบมีแผนกำหนดไว้ล่วงหน้าโดยผู้จัด หรืออาจเกิดขึ้นจากตัวบุคคลเองโดยไม่ตั้งใจก็ได้
2. ฐานคติด้านจุดมุ่งหมายการเรียนรู้ ประกอบด้วย
2.1 จุดมุ่งหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยอาจเกิดขึ้นจากผู้จัด จากตัวบุคคล หรือจากกลุ่มบุคคลก็ได้
2.2 จุดมุ่งหมายของการศึกษาตามอัธยาศัยอาจเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมในการศึกษาการทำงาน หรือการดำรงชีวิตก็ได้
3. ฐานคติด้านการจัดการ ประกอบด้วย
3.1 การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมุ่งเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ตามความสนใจและที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล
3.2 การจัดการศึกษาตามอัธยาศัยมุ่งที่การสร้างปัจจัยหรือแหล่งอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ซึ่งอาจเป็นไปได้ทั้งที่เป็นบุคคลและสิ่งไม่มีชีวิตต่าง ๆ
4. ฐานคติด้านการเรียนรู้ ประกอบด้วย
4.1 บุคคลมีแบบและวิธีการเรียนรู้เป็นของตนเอง
4.2 บุคคลมีวิธีการประเมินผลการเรียนรู้เป็นของตนเอง
หลักการจัดการศึกษาตามอัธยาศัย
• จัดให้สนองกลุ่มเป้าหมาย ทุกเพศและวัย ตามความสนใจ และความต้องการ
• จัดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต
• จัดโดยวิธีหลากหลายโดยใช้สื่อต่างๆ
• จัดให้ยืดหยุ่น โดยไม่ยึดรูปแบบใดๆ
• จัดให้ทันต่อเหตุการณ์
• จัดได้ทุกกาลเทศะ
• จัดบรรยากาศ สถานการณ์ และสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
สรุป
อาจกล่าวได้ว่า การศึกษาตามอัธยาศัย ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของ การเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) ที่เติมเต็มความต้องการของมนุษย์ที่แสวงหา ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆ นอกเหนือการเรียนในระบบโรงเรียน โอกาสของการเรียนรู้ตามอัธยาศัยเกิดขึ้นได้ ในทุกเวลา ไม่จำกัดสถานที่ และเรียนรู้ได้จากสื่อต่างๆ (อาทิ รายการวิทยุ-โทรทัศน์กระจายเสียง ภาพยนตร์ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ CD-DVD แหล่งเรียนรู้ออนไลน์ทางอินเทอร์เน็ต)
ที่มา http://mediathailand.blogspot.com/2012/05/blog-post_460.html
http://ratreesrivilai.igetweb.com/index.php?mo=3&art=41948303