13ตุลาคม2023
พระราชประวัติ รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470 ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ทรงเป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ในปี พ.ศ. 2492 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ในเวลาต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดการพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 หลังนิวัตประเทศไทย ณ วังสระปทุม และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร เป็นสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 สิริพระชนมายุ 88 พรรษา 10 เดือน 8 วัน
พระราชประวัติด้านการศึกษา
ทรงเข้าศึกษาระดับชั้นอนุบาล ที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2476 เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเชษฐภคินี และสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงเข้าศึกษาต่อระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ (Miremont) และระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนูแวล เดอ ลา สวิส โรมองด์ (Nouvelle de la Suisse Romande)
ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ทรงได้รับประกาศนียบัตร ด้านอักษรศาสตร์จากโรงเรียนยิมนาส คลาสสิค ก็องโตนาล (Gymnase Classique Cantonal) ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ทรงศึกษาชั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยโลซาน แผนกวิชาวิทยาศาสตร์ ในเวลาต่อมาได้ทรงเปลี่ยนเป็นสาขาวิชารัฐศาสตร์และกฎหมาย เพื่อเตรียมพระองค์ในการรับพระราชภารกิจหลังได้ทรงรับสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ลำดับที่ 9 แห่งราชจักรีวงศ์
การขึ้นครองราชย์และพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จขึ้นครองสิริราชสมบัติต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 หลังเสด็จทรงศึกษาเพิ่มเติมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระบรมนามาภิไธย ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" พร้อมทั้งพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการแก่ประชาชนชาวไทยว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม"
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จสวรรคตเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ทรงดำรงสิริราชสมบัติ 70 ปี
พระนามเต็ม รัชกาลที่ 9 และคำอ่าน
พระปรมาภิไธย/พระนามาภิไธย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
คำอ่าน
พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-บอ-รม-ชะนะ-กา-ทิ-เบด-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะดุน-ยะ-เดด-มะ-หา-ราด-บอ-รม-มะนาด-บอ-พิด
พระปรมาภิไธย/พระนามาภิไธยแบบย่อ
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
คำอ่าน
พระ-บาด-สม-เด็ดพระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดดมะ-หา-ราด-บอ-รมมะ-นาด-บอ-พิด
พระปรมาภิไธย/พระนามาภิไธย ภาษาอังกฤษ
His Majesty King Bhumibol Adulyadej The Great
พระราชธิดาและพระราชโอรส รัชกาลที่ 9
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชโอรสและพระราชธิดา รวม 4 พระองค์ ดังนี้
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี (Princess Ubolratana Rajakanya Sirivadhana Barnavadi)
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (His Majesty King Maha Vajiralongkorn Phra Vajiraklaochaoyuhua)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (Her Royal Highness Princess Maha Chakri Sirindhorn)
สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี (Her Royal Highness Princess Chulabhorn Krom Phra Srisavangavadhana)
พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9
ตลอด 70 ที่ครองราชย์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกรไทย ตัวอย่างพระราชกรณียกิจบางส่วน
พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงเรียน รวมทั้งทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และในพระบรมราชูปถัมภ์มากมาย เช่น โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชวินิต โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ โรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังทรงพระราชทานทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงระดับปริญญาเอก และพระราชทานทุนวิจัยสาขาต่าง ๆ ทรงก่อตั้งมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล ตลอดจนเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ อีกด้วย
พระราชกรณียกิจด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
ตัวอย่างโครงการพระราชดำริด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่
ทรัพยากรน้ำ
โครงการฝนหลวง แก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ฝนทิ้งช่วง หรือฝนไม่ตกในพื้นที่การเกษตร
โครงการแก้มลิง แก้ปัญหาน้ำท่วมและเป็นที่พักน้ำก่อนระบายออกสู่ทะเล
โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำป่าสัก เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ แก้ไขปัญหาน้ำท่วม และใช้เป็นแหล่งพลังงานผลิตไฟฟ้า
ทรัพยากรดิน
การศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าแฝก แก้ปัญหาเรื่องการพังทลายของหน้าดินบริเวณเนินเขา ปัญหาดินปนทรายและดินดาน พร้อมยังช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรดินและน้ำ
โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา บริหารทรัพยากรที่ดินและน้ำตามหลักทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ทรัพยากรป่าไม้
โครงการหลวง แก้ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า พัฒนารักษาป่าต้นน้ำในบริเวณพื้นที่ป่าในภาคเหนือที่ถูกทำลายไปเพื่อทำไร่เลื่อนลอยและปลูกฝิ่น
พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และสาธารณสุข
โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานทุนส่งเสริมการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข
โปรดเกล้าฯ ให้หน่วยแพทย์และหน่วยทันตกรรมพระราชทานออกหน่วยรักษาผู้ป่วย
โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อประโยชน์ของผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์
พระราชกรณียกิจด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อเจริญสัมพันธไมตรี เช่น เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรีย เยอรมนี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลียแคนาดา อิหร่าน ปากีสถาน โดยได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนลาวเป็นประเทศสุดท้าย เมื่อปี พ.ศ. 2537 รวมทั้งยังทรงต้อนรับประมุขจากต่างประเทศ พระราชอาคันตุกะหรือแขกของรัฐบาลอีกมากมาย เพื่อสานสัมพันธ์อันดีและช่วยให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ